Trends & Lifestyle

 

จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ไกลอย่างที่คิด เมื่อใช้เส้นทาง R3A

ทริปนี้เราเริ่มต้นจากเชียงใหม่ นั่งรถบัสเมล์เขียวไปลงเชียงของ ก่อนที่จะข้ามไปชายแดน เมื่อเรายื่นพาสปอร์ตเสร็จก็เดินไปซื้อตั๋วรถ Shuttle Bus ข้ามไปยังประเทศลาว สนนราคาแล้วก็อยู่ที่ 25 บาทต่อคน พอได้ตั๋วเรียบร้อยแล้ว เราก็นั่งรถข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ( สะพานจะเปิดให้ข้ามระหว่าง 8.00 น. -18:00 น)

จากนั้นเราก็ขึ้นรถที่สถานีขนส่ง เป็นรถประจำทางที่เดินทางออกจากบ่อแก้ว (ต้องนั่งรถจากห้วยทรายไปขึ้นที่ท่ารถบ่อแก้วที่อยู่ห่างจากด่านลาวอยู่พอสมควร) เราออกเดินทางประมาณ 9.00 น. โดยรถบัสจะไปจอดที่หลวงน้ำทา ค่าโดยสารเที่ยวนี้ตกอยู่ที่ 100 บาท

 

 

เราจับรถจากลาวไปยังหลวงน้ำทาเพื่อไม่ให้เสียเวลา เมื่อไปถึงที่หมายก็ค่ำแล้ว เราจึงทำการหาที่พัก คืนนี้เราก็นอนกันที่หลวงน้ำทา 1 คืน

ยังมีอีกหลายวิธีในการเดินทาง

- นั่งรถมินิแวน ที่รับผู้โดยสารได้เที่ยวประมาณ 6-7 คน ค่าใช้จ่ายก็เหมาคนละ 500 บาท ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 4 - 4ชั่วโมงครึ่ง วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มาเที่ยวคนเดียว หรือสองคน เพราะสามารถแชร์รถกับนักท่องเที่ยวแถวนั้น
- เหมารถตู้ ซึ่งรถตู้จะไปส่งจนถึงบ่อเต็น ตม.ลาวเลย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง

 

รุ่งเช้าเราก็รีบหารถที่เดินทางไปยังเชียงรุ้ง หรือสิบสองสองปันนา ระหว่างทางไปจีนเราจะเห็นการก่อสร้างทาง และต้นกล้วยเยอะมาก เรียกได้ว่าปลูกกันเป็นไร่ๆ เลยทีเดียว

 

พอถึงบ่อเต็น ชายแดนประเทศจีน ก็ต้องนำสัมภาระทั้งหมดลงจากรถ เพื่อให้ทหารของประเทศจีนทำการตรวจสอบก่อนจะเข้าไปสู่เขตดินแดนประเทศจีน ไม่ต้องแปลกใจถ้าเกิดได้ยินชาวเชียงรุ้งพูดภาษาไทยกันได้คล่อง

หลังจากพระเจ้ากาวิละได้ปลดปล่อยเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนาจากพม่าแล้ว พระเจ้ากาวิละทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นเป็นเมืองร้าง เพราะผู้คนหนีภัยสงคราม อีกทั้งในกำแพงตัวเมืองเชียงใหม่ยังมีต้นไม้เถาวัลย์ปกคลุม ชุกชุมด้วยเสือ สัตว์ป่านานาพันธุ์ ผู้คนของพระองค์มีน้อยไม่อาจบูรณะซ่อมแซมเมืองใหญ่ได้ ดังนั้นจึงยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนโดยไปตีเมืองไตในดินแดนสิบสองปันนา ทั้งไตลื้อ ไตโหลง (ไทใหญ่) ไตขึน (คนไตลื้อในเมืองเชียงตุง) ไตลื้อเมืองยอง ไตลื้อเมืองลวง ไตลื้อเมืองพน เมืองหย่วน เมืองล่า มาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และน่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" อันเป็นวิธีฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาวิธีหนึ่ง เพราะในช่วงก่อนนั้น พม่าได้กวาดต้อนชาวล้านนาไปอยู่ที่ พุกาม และ มัณฑะเลย์ ไปจำนวนมาก

 

ชื่อสิบสองปันนานั้น สันนิษฐานว่ามาจากสองกรณี กรณีแรกมาจากคำว่า สิบสองพันนา ก็คือ มีนาอยู่สิบสองพันผืน หรือหนึ่งหมื่นสองพันผืนนั่นเอง เทียบเคียงกับล้านนาดินแดนที่กว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ที่มีนานับล้านผืน
อีกกรณีหนึ่ง สิบสองปันนา มีความหมายว่า "12 อำเภอ" คำว่า "พันนา" เป็นหน่วยการปกครองของคนไทในอดีต ตามหนังสือพงศาวดารโยนก เชียงรายมีพันนา พะเยามี 36 พันนา ถ้าเท่ากับหน่วยการปกครองปัจจุบัน ก็คืออำเภอ

สิบสองปันนา (Sipsongpanna) คนจีนออกเสียงว่า ซีสวงปันนา (Xishuangpanna)” เป็นนครเมิงไตของชาวไทลื้อและชนกลุ่มน้อย ตั้งอยู่ในภาคใต้สุดของมณฑลยูนนาน ในอดีตแบ่งเขตการปกครองเป็น 12 หัวเมืองใหญ่ โดยจัดแบ่งหัวเมืองใหญ่ 28 เมืองเป็น 12 เขตปกครอง จึงเรียกว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองพันนา

ปี 2016 (1953-2016) ครบรอบ 63 ปีที่สิบสองพันนาเสียดินแดนให้ประเทศจีน อาณาจักรเชียงรุ้งล่มสลาย

ปัจจุบันสิบสองปันนาเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลหยุนหนาน ประเทศจีน สิบสองปันนาหรือซื่อชวงปั่นนาเป็นเขตปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไต แต่คนไทลื้อที่นี่ได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนของตนเอง จากการอพยพเข้ามาของคนจีนฮั่น ในส่วนของเชียงรุ่งเองมีความเจริญและมีทันสมัยมาก และมากที่สุดในบรรดา 5 เชียง ที่ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย เชียงทอง (หลวงพระบาง) เชียงตุงและ เชียงรุ่ง ทางการจีนได้สร้างสะพานขึงข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมเมืองเชียงรุ่งทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน อาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตึกสูง โรงแรม ร้านค้าต่างๆ ออกแบบสถาปัตยกรรมตามแบบไทลื้อ ยามกลางคืนก็สว่างไสวด้วยแสงไฟ และแหล่งบันเทิง

ภาษาจีนได้กลายเป็นภาษากลางที่นี่ วัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมเรียนและพูดภาษาจีนด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ยกเว้นแต่ในเมือง หรือหมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังพบผู้สูงวัยที่ยังพูดไทลื้อกัน ในอนาคตภาษาไทลื้ออาจจะกลายเป็นเพียงอดีต

บ้านเมืองของที่นี่มีความสะอาดสะอ้าน บรรยากาศร่มรื่น อากาศเย็นสบาย มีการนำสายไฟลงดินอย่างเป็นระเบียบ แล้วก็ปลูกต้นไม้ในธีมเขตร้อน เช่น ปาล์ม มะพร้าว หมาก จั๋ง เฟิร์น และต้นไทร ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปลูกไม่ได้ในดินแดนแถบอื่นของประเทศจีน

เราจะพบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะไทลื้อได้ในทุกๆ แห่ง และทุกๆ อาคารของที่นี่ ตั้งแต่ป้อมตำรวจ ที่ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และสัญลักษณ์ของเมือง จะเป็นช้าง และนกยูง

 

โรงแรมที่เราพัก

สถานที่ท่องเที่ยวก็มีตั้งแต่เยี่ยมชมหมู่บ้านไทลื้อโบราณ ใช้เวลาเช่ารถออกไปนอกเมืองราว 1 ชั่วโมง และต้องให้เขารอรับกลับ

เที่ยวสิบสองปันนา หมู่บ้านกาหลั่นป้า หมู่บ้านวัฒนธรรมไทลื้อ

เที่ยวสิบสองปันนา วัดมหาราชฐานสุทธาวาส หมู่บ้านกาหลั่นป้า

เมืองฮำ หรือกาหลั่นป้า ชุมชนไทลื้อที่ใหญ่แห่งหนึ่งของสิบสองปันนา ห่างจากเชียงรุ่งประมาณ 27 กิโลเมตร หมู่บ้านวัฒนธรรมไทลื้อ แม้จะเป็นหมู่บ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวไทลื้อโดยเฉพาะ แต่ที่นี่ยังคงรักษารูปแบบของหมู่บ้านดังเดิมไว้เป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะปลูกเรือนใต้ถุนสูงหลังคาดิน ตามแบบฉบับของชาวไทลื้อ ภายในบ้านมีบริเวณรอบเรือนไว้ปลูกผัก เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ชะอม ไว้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปหาซื้อที่ตลาด และยังปลูกผลไม้พื้นบ้านอย่างขนุน มะม่วง ไว้เป็นร่มเงาและเก็บรับประทาน ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือการเกษตรและนั่งทำงาน เช่น จักตอก ทอผ้า แต่ละหลังสะอาดสะอ้านหน้าอยู่ บางหลังมีแผงขายของที่ระลึกไว้ให้เลือกซื้อกัน
บ้านบางหลังมีป้ายเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมบนบ้าน บางบ้านมีสาวตัวดีแต่งกายชุดไทลื้อเป็นผู้เชื้อเชิญ ตัวดีนั้นภาษาไทลื้อเรียกกันอย่างยกย่องชมเชยว่า รูปสวย หรือ รูปหล่อคำทักทายจะทักทายกันว่าสาวตัวดี หรือ บ่าวตัวดีจึงเป็นคำที่สุภาพหมายถึง สาวคนสวย หรือหนุ่มรูปหล่อ

สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท เรียกว่าเทศกาล พัวสุ่ยเจี๋ย โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ้ง จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน ถือว่าเป็นอีกสีสันที่เราไม่เคยเห็นการเล่นสงกรานต์ที่แสนจะงดงาม ทั้งชุดการแต่งกาย และวัฒนธรรม

 

 

สวนป่าดงดิบ

สวนป่าดงดิบสิบสองปันนาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองเชียงรุ้ง โดยห่างจากตัวเมืองเชียงรุ้ง 8 กิโลเมตร เป็นป่าดงดิบเขตร้อนที่อยู่ใกล้เชียงรุ้งมากที่สุด มีพื้นที่ครอบคลุมราว 1.5 หมื่นไร่ ภายในสวนป่าดงดิบมีสภาพป่าเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีพันธุ์ไม้เขตร้อนและสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ มีหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยจำลองและร้านอาหารเรือนรับรองแขกอยู่ภายในสวน มีการแสดงของชนพื้นเมืองและพิธีแต่งงานของชนกลุ่มน้อยให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม มีการแสดงการเลี้ยงนกยูงที่สวยงามน่าประทับใจ มีส่วนที่เป็นกรงสัตว์ซึ่งจะมีการแสดงของสัตว์แสนรู้ เช่น เสือ หมี ลิง เป็นต้น การเดินเที่ยวภายในสวนป่าดงดิบต้องใช้เวลาราวๆ ครึ่งวัน นักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัดสามารถเช่ารถกอล์ฟไปส่งตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาเดิน

หมายเหตุ การแสดงของนกยูงนั้นจะมีเวลาเป็นรอบ ๆ ในการเยี่ยมชม

 

การแสดงเรียกนกยูงออกจากกรงมาทานอาหารและให้นักท่องเที่ยวชม

 

 

https://pantip.com/topic/35045202 แหล่งที่มา

ฝากความเห็น




x